ประเพณี (๒๑ เมษายน ๒๕๕๔)
ประเพณี
คำว่า ประเพณี ยืมมาจากคำภาษาสันสกฤตว่า ปฺรเวณิ (อ่านว่า ปฺระ -เว-นิ) ใช้หมายถึงสิ่งที่นิยมถือประพฤติปฏิบัติสืบ ๆ กันมาจนเป็นแบบแผน
ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน กล่าวไว้ว่า ประเพณีแบ่งได้เป็น จารีตประเพณี ขนบประเพณี และธรรมเนียมประเพณี
จารีตประเพณี คือประเพณีที่สังคมถือว่าถ้าใครในสังคมฝ่าฝืนหรืองดเว้นไม่กระทำตาม ถือว่าเป็นความผิดความชั่ว จารีตประเพณีเป็นจรรยาและศีลธรรมของสังคม เช่น หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่มีสามีถือว่าผิดจารีตประเพณี
ขนบประเพณี คือประเพณีที่สังคมได้ตั้งหรือวางเป็นระเบียบแบบแผนขึ้นไว้ จะโดยตรงหรือโดยอ้อมแล้วแต่กรณี เช่น ลูกที่ไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ถือว่าผิดขนบประเพณี
ส่วนธรรมเนียมประเพณี คือประเพณีที่สังคมถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ไม่ถือว่าผิด เป็นแต่นิยมกันว่าควรประพฤติ เช่น เมื่อผู้น้อยไปหาผู้ใหญ่ ก็มักจะมีของไปฝากตามธรรมเนียมประเพณี
ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.