เหมยขาบ (๑ มีนาคม ๒๕๕๕)
เหมยขาบ
เหมยขาบ เป็นภาษาไทยถิ่นเหนือเรียกละอองน้ำค้างที่กลายเป็นน้ำแข็งแผ่นบาง ๆ เกาะอยู่บนใบไม้ใบหญ้าในเวลาที่อากาศหนาวจัด ว่า น้ำค้างแข็ง. คำว่า เหมยขาบ ประกอบด้วยคำว่า เหมย ซึ่งแปลว่า น้ำค้าง กับคำว่า ขาบ แปลว่า ชิ้นเล็ก ๆ. เหมยขาบ คือน้ำค้างแข็งแผ่นบาง ๆ. ภาษาไทยถิ่นเหนือเรียกไอน้ำที่แข็งตัวเพราะความเย็นจัดว่า เหมยแขง. แต่ถ้าน้ำค้างที่ลงจัดจนเหมือนละอองฝน จะเรียกว่า เหมยช้าง (อ่านว่า เหฺมย-จ๊าง) คือน้ำค้างที่ลงหนักมากแข็งเป็นแผ่นใหญ่
เหมยขาบ ในภาษาถิ่นพายัพและภาษาถิ่นอีสานบางถิ่นเรียกว่า แม่คระนิ้ง (อ่านว่า แม่-คะ-นิ้ง)
การใช้คำภาษาถิ่นเป็นการรักษาภาษาแท้ของท้องถิ่นซึ่งเป็นสมบัติของชาติโดยส่วนรวมด้วย จึงเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริม แต่ในการเสนอข่าวซึ่งต้องสื่อไปทั่วประเทศให้คนเข้าใจตรงกัน ควรมีคำแปลหรือคำอธิบายประกอบด้วย เนื่องจากคนไทยแต่ละคนมีประสบการณ์ต่างกัน
ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.