บ๊อกเซีย (๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๕)
บ๊อกเซีย  …
Detailsช่องไฟ
ช่องไฟ แต่เดิมหมายถึงช่องขนาดย่อม ๆ และตื้นที่ทำไว้เป็นระยะ ๆ บนฝาผนังหรือกำแพง สำหรับตั้งเครื่องตามไฟให้แสงสว่างเวลากลางคืน. ปัจจุบันคำว่า ช่องไฟ ใช้หมายถึง ช่องว่างระหว่างตัวพยัญชนะตัวสระที่เขียนเรียงต่อกัน การเขียนภาษาไทยถ้าเว้นช่องไฟระหว่างตัวอักษรเท่า ๆ กันก็จะดูสวย ในการฝึกคัดลายมือ ครูจะสอนนักเรียนให้เขียนเส้นตัวอักษรให้ตรงและเว้นช่องไฟระหว่างตัวอักษรให้เท่ากัน ในภาษาไทยถ้อยคำจะเขียนเรียงกันไปตามประโยคและตามอนุประโยคซึ่งสัมพันธ์กับความหมาย ช่องไฟระหว่างประโยคหรือระหว่างอนุประโยค เรียกว่า วรรค. การเขียนหนังสือไทยต้องมีการเว้นวรรคให้ถูกต้องตามความหมายและตามลักษณะข้อความที่เป็นประโยคและอนุประโยคนั้น
คำว่า ช่องไฟ ถ้าใช้ในงานศิลปะประเภทงานจิตรกรรม จะหมายถึง พื้นที่ว่างที่อยู่ระหว่างลวดลายแต่ละตัวซึ่งเป็นสิ่งช่วยเสริมให้ภาพและลวดลายดูเด่นงาม ช่องไฟในงานจิตรกรรมอาจใหญ่บ้างเล็กบ้าง ถี่บ้างห่างบ้าง เพื่อความเหมาะสมของลายแต่ละลาย
ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.
ผู้ตรวจการแผ่นดิน
ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นตำแหน่งที่ประเทศไทยเริ่มมีใน พุทธศักราช ๒๕๔๒ โดยใช้ชื่อว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งตั้งขึ้นจากแนวคิด ออมบุดสแมน (Ombudsman) ในประเทศเดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลปัดเป่าเรื่องทุกข์ร้อนของประชาชนแทนพระมหากษัตริย์ ต่อมา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ กำหนดให้ใช้คำว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน แทน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และให้มีจำนวน ๓ คน หนึ่งในสามคนเป็นประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน. อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน คือ พิจารณาและสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณีที่ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องจัดทำรายงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐสภาปีละ ๑ ครั้ง
ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.
ประตูผี
ประตูผี เป็นชื่อประตูเมืองของกรุงเทพฯ อยู่บริเวณริมคลองโอ่งอ่าง เป็นเส้นทางสำหรับลำเลียงศพออกจากเขตเมือง คือเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน. ประตูผี เป็นที่รู้จักกันดีและมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๓๖๓ สมัยรัชกาลที่ ๒ มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมากจากโรคระบาดที่เรียกว่า โรคป่วงใหญ่ ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า อหิวาตกโรค จำเป็นต้องลำเลียงศพผ่านประตูผีออกไปทำพิธีฌาปนกิจที่วัดสระเกศ
ประตูผี เป็นย่านการค้าเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ใช้ชื่อประตูผีตามชื่อประตูเมือง บริเวณนี้เป็นพื้นที่จุดตัดของถนนมหาไชยและถนนบำรุงเมือง เขตพระนคร กรุงเทพฯ ต่อมาทางการได้ตั้งชื่อย่านประตูผี ให้มีชื่อที่เป็นมงคล ว่า สำราญราษฎร์ แปลว่า ความสุขของประชาชน หรือประชาชนที่มีความสุข สนุก สบาย
ปัจจุบันประตูผีหรือสำราญราษฎร์ยังคงเป็นย่านธุรกิจการค้าที่สำคัญของกรุงเทพฯ แต่ไม่มีการลำเลียงศพออกจากประตูนี้อีกแล้ว จึงเหลือเพียงแต่ชื่อให้รำลึกถึงเรื่องในอดีตเท่านั้น
ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.
บรรจุ
บรรจุ หมายความว่า ใส่สิ่งใดสิ่งหนึ่งลงในภาชนะหรือหีบห่อ เช่น บรรจุยาลงในขวด เขาบรรจุสิ่งของลงในกล่อง ยานี้บรรจุซองละ ๒๐ เม็ด. ภาชนะหรือหีบห่อที่ใช้ใส่สิ่งต่าง ๆ เรียกว่า บรรจุภัณฑ์. ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์มีการพัฒนา ทำให้สินค้าน่าซื้อน่าใช้มากกว่าแต่ก่อน. คำว่า บรรจุ หมายความว่า ใส่หรือเก็บไว้ในที่เฉพาะ ก็ได้ เช่น การเก็บอังคาร อัฐิ หรือศพไว้ในที่เก็บก็เรียกว่า บรรจุอังคาร บรรจุอัฐิ บรรจุศพ. คำว่า บรรจุ อาจใช้ในความหมายเปรียบเทียบ เช่น สถานีโทรทัศน์บรรจุรายการที่มีประโยชน์สำหรับเด็กมากขึ้น เราควรบรรจุวิชาที่เกี่ยวกับความเป็นไทยไว้ในหลักสูตรทุกหลักสูตร. การรับราชการหรือการจัดบุคคลให้เข้าประจำตำแหน่ง ก็เรียกว่า บรรจุเข้าเป็นข้าราชการ บรรจุบุคคลเข้าเป็นพนักงานขององค์กรหรือบริษัท
ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.
ผักชีโรยหน้า
ผักชีโรยหน้า เป็นสำนวน หมายถึง การทำความดีเพียงผิวเผิน ไม่ได้ทำดีอย่างจริงจังเป็นประจำ หรือสม่ำเสมอ จะทำดีเฉพาะหน้าหรือเวลามีคนมาตรวจ มาเยี่ยม. สำนวนนี้มีที่มาจาก ผักชีที่ใช้โรยหน้าหรือตกแต่งหน้าอาหารให้ดูน่ารับประทาน ทั้งมีกลิ่นหอม และเพิ่มรสชาติให้อาหารอร่อย เช่นเดียวกับการทำงาน การจัดงาน หรือจัดสถานที่ต่าง ๆ เมื่อมีผู้มาตรวจ มาเยี่ยม ก็จะจัดหาของสวย ๆ งาม ๆ หรือดูดี มาตกแต่ง เมื่อผู้มาตรวจ มาเยี่ยมกลับไป ของเหล่านั้นก็จะถูกรื้อออกกลับเป็นสภาพเดิมที่ไม่สวยงาม สกปรกเลอะเทอะ หรือไม่เรียบร้อย เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดจะไปตรวจท้องที่ในวันพรุ่งนี้ เจ้าหน้าที่ทุกอำเภอรีบจัดซื้อไม้ดอกไม้ประดับมาตกแต่งตั้งแต่ประตูทางเข้าจนถึงหน้าห้องน้ำ ผักชีโรยหน้ากันทั้งนั้น
ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.